FacebookPinterest

การขยายพันธุ์กุหลาบ

กุหลาบ สามารถขยายพันธุ์ได้หลายวิธี เช่น การตัดชำ การตอน การติดตา และการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ เพื่อให้ได้ต้นกุหลาบที่มีระบบรากที่แข้งแรง และให้ผลผลิตสูง เกษตรกรมักนิยมกุหลาบพันธุ์ดีที่ติดตาบนตอกุหลาบป่า
       วิธีที่นิยมขยายพันธุ์กุหลาบเพื่อผลิตตัดดอก   มีดังนี้
       1. การตัดชำ
          ข้อดีของการปักชำคือ ทำได้ง่าย และเร็ว แต่มีข้อเสียคือ การออกรากจะออกได้ดีเฉพาะบางพันธุ์เท่านั้น และเมื่อนำไปปลูกตัดดอก ต้นจะโทรมเร็วภายใน 2-3 ปี การปักชำทำได้ 2 แบบ คือ
       # การตัดชำกิ่งอ่อน กิ่งชำอ่อนที่ใช้อายุไม่ควรเกิน 45 วัน นิยมกิ่งที่มีดอก กำลังจะบานภายใน 7 วัน จนถึงเมื่อดอกบานแล้ว ไม่เกิน 1 สัปดาห์ โดยตัดกิ่งยาว 12-15 เซนติเมตร ให้มีใบติดมาด้วย กรีดโคนเป็นทางยาว 1-1.5 เซนติเมตร 2 รอย แล้วนำไปจุ่มฮอร์โมนเร่งราก เช่น เซอราดิก เบอร์ 2หรือ ใช้ NAA ผสมกับ IBA อัตรา 1:1 ความเข้มข้นอย่างละ 4,450 ส่วนต่อล้านส่วน ผึ่งให้แห้งในร่ม แล้วนำไปปักชำในกระบะที่มีวัสดุชำ คือ ถ่านแกลบ หรือ ถ่านแกลบผสมทราย รดน้ำให้ชุ่มประมาณ 12-15 วัน กิ่งปักชำก็จะออกราก
       # การตัดชำกิ่งแก่ เพื่อทำเป็นต้นตอสำหรับติดตา การตัดชำกิ่งแก่ควรทำในช่วง ฤดูแล้ง เพราะเป็นระยะที่กิ่งแก่จัด มีอาหารสะสมมากจะช่วยให้ออกรากง่ายขึ้น ควรเลือกกิ่งที่มีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 3/8 นิ้ว ตัดกิ่งชำยาว 6-8 เซนติเมตร นำมาชำถุงชำ หรือปักชำในแปลงโดยตรงก็ได้
       2. การติดตา
          เป็นวิธีที่นิยมทำกันมากเพราะ ขยายพันธุ์ได้เร็วและสามารถคัดเลือกต้นตอที่เหมาะสมกับสภาพดินฟ้าอากาศของ แต่ละท้องถิ่น ต้นกุหลาบติดตาจะมีระบบรากแข้งแรง มีอายุให้ผลผลิตนาน และให้ผลผลิตสูงกว่ากรปลูกกุหลาบจากการตัดชำ การติดตานั้น ควรเลือกต้นตอให้เหมาะสมกับสภาพภูมิอากาศ ต้นตอที่นิยมใช้มีดังนี้
       @ อินดิก้าเมเจอร์ (Rose indica ' Major ' ) นิยมใช้เป็นต้นตอในอิสราเอลและประเทศในตอนใต้
          ข้อดี ปลูกได้ดีในดินทรายและดินที่มี ph สูง ทนต่ออากาศร้อน ให้ก้านดอกยาว และ แข้งแรง ให้ดอกสีดี ดูแลรักษาง่าย
          ข้อเสีย ต้นพันธุ์ดีจะตั้งตัวได้ช้า เมื่อตั้งตัวได้จะเติบโตได้เร็ว และ จะช้าลงตอนท้าย มักแสดงอาการกิ่งแห้งตายหลังการตัดดอกหรือตัดแต่ง ไม่ทนอากาศเย็น และอินดิก้าเมเจอร์ จำนวนมากมีเชื้อไวรัสอยู่
       @ มัลติฟลอร่า (Rose multiflora ) เป็นต้นตอที่นิยมในญี่ปุ่น ซึ่งเป็นถิ่นกำเนิด ในอิสราแอล และ แอฟริกาตอนใต้
          ข้อดี โตเร็วและให้ผลผลิตสูง ง่ายต่อการดูแลรักษา ทนต่อโรคทั่วไปของกุหลาบดี
          ข้อเสีย ให้ดอกสีไม่เข้มมากนัก ต้นมักมีอายุสั้น และพันธุ์ที่ปลูกจากเมล็ดมักจะไม่ทนต่อโรค คราวน์กอล (crown gall)
       @ อินเนอมิส ( Rosa canina 'Inermis' ) เป็นต้นตอที่นิยมปลูกในโรงเรือน ในยุโรป
          ข้อดี ช่วยให้ต้นพันธุ์ดี ให้ผลผลิตสูงขึ้น สีดีขึ้น และทำให้ต้านทานต่อโรคราแป้งเพิ่มขึ้น
          ข้อเสีย ไม่ทนต่อสภาพอากาศเปลี่ยนแปลงมาก นอกโรงเรือนอาจทำให้ใบร่วงได้ง่าย ไม่ต้านทานโรค ไม่ทนอากาศหนาว และมีหน่อจากต้นตอได้ง่าย
       @ มาเนติ ( Rosa maneti ) เป็นต้นต่อที่นิยมปลูกในประเทศอเมริกา และ ประเทศในแถบทวีปอเมริกาใต้
          ข้อดี เป็นต้นตอที่ดีกว่าอินดิก้าเมเจอร์ เพราะไม่ไวต่อความหนาวเย็น เจริญได้ดีในฤดูหนาว และสามารถขุดจากแปลงและเข้าห้องเย็นได้ทันที และมีข้อได้เปรียบอื่นๆ เหมือนอินดิก้าเมเจอร์
       @ เนทัล ไบร ( Rosa natal 'Brier' ) เป็นต้นตอที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติในแอฟริกาใต้
          ข้อดี ให้ก้านดอกยาว และให้ผลผลิตสูงในเขตร้อน แต่ไม่ได้มีผลกับทุกๆ พันธุ์
       การติดตาในปัจจุบันเกษตรกรนิยมติดตาในถุง พลาสติก ส่วนในต่างประเทศนิยมขยายพันธุ์ โดยการติดตาในแปลง และ จำหน่ายต้นพันธุ์ล้างราก
       2.1 การติดตาในถุงพลาสติก วิธีการติดตากุหลาบปัจจุบัน นิยมการติดตาแบบชิบ ในประเทศไทยนิยมติดตาบนต้นตอ ซึ่งปักชำออกรากแล้วในถุงพลาสติก ซึ่งทำได้ดังนี้
       # เฉือนต้นตอเฉียงลงให้ลึกเข้าเนื้อไม้ราว 1/4 - 1/3 ของเส้นผ่าศูนย์กลางของต้น  ยาวประมาณ 1 นิ้ว
       # เฉือนต้นตอ ตัดโคนรอยเฉือนครั้งแรก เป็นมุม 45 องศา
       # เฉือนกิ่งพันธุ์ดี ขนาดเท่ากับรอยเฉือนบนต้นตอ
       # แกะส่วนของต้นตอที่เฉือนออก แล้วนำชิ้นส่วนของแผ่นตาเข้าใส่แทนที่
       # พันพลาสติกให้มิดแผ่นตา
       การบังคับตา หลังติดตาไปแล้ว 7-10 วัน ให้ตรวจดูแผ่นที่ติดตาไว้ ถ้าแผ่นตานั้นเป็นสีเขียวสดอยู่ แสดงว่า การติดตานั้นได้ผล ให้แกะแผ่นพลาสติกออก แล้วพันใหม่ โดยเว้นช่องตรงตาไว้เพื่อให้ตาเจริญออกมาได้ แล้วใช้มีดบากกิ่งเหนือตารอยติดตา เพื่อเร่งให้ตาเจริญเติบโตรวดเร็วยิ่งขึ้น ปล่อยให้กิ่งใหม่เจริญเติบโตมีความยาวพอสมควร ก็ตัดต้นตอที่อยู่เหนือกิ่งใหม่ออกทั้งหมด และแกะแผ่นพลาสติกออก ในกรณีที่การติดตาไม่ได้ผล คือแผ่นตาที่ติดกลายเป็นสีน้ำตาลหรือดำ ให้รีบแกะแผ่นพลาสติกและแผ่นตานั้นออก แล้วติดตาใหม่ ในด้านตรงข้ามกับของเดิม
       2.2 การผลิตกุหลาบล้างราก  ในต่างประเทศผู้ปลูกกุหลาบเป็นการค้า มักนิยมซื้อกุหลาบติดตาในลักษณะล้างรากไปปลูก ซึ่งการปลูกวิธีนี้จะลดความเสี่ยงต่อการติดตาไม่ได้ผล สามารถปลูกได้เป็นจำนวนมาก และต้นที่ได้มีความสม่ำเสมอ เพราะมีการคัดขนาดต้นตอและกิ่งพันธุ์ดี ตรงตามพันธุ์ และยังให้ผลผลิตเร็ว แต่ต้นพันธุ์จะมีราคาแพงกว่าที่จะติดตาเอง ต้นพันธุ์กุหลาบล้างรากแบ่งเป็น 2 ชนิด ได้แก่ กุหลาบล้างรากที่ตายังไม่แตก ( dormant eye rose ) และ กุหลาบล้างรากที่ตาแตกแล้วซึ่ง อาจมีอายุ 3 เดือน  6เดือน  1.5 ปี หรือ 2 ปี
       การปลูกและการจัดการ
       @ สภาพที่เหมาะสมในการปลูก
          - พื้นที่ปลูก ควรปลูกในที่ที่ ระบายน้ำได้ดี มีความเป็นกรดเล็กน้อย ph ประมาณ 6-6.5 และได้แสงอย่างน้อย 6 ชั่วโมง
          - อุณหภูมิ อุณหภูมิที่เหมาะสมในการเจริญของกุหลาบคือ กลางคืน 15-18 องศาเซลเซียส และกลางวัน 20-25 องศาเซลเซียส ซึ่งเป็นช่วงอุณหภูมิที่จะทำให้ได้ดอกที่มีคุณภาพ และให้ผลผลิตสูง หากอุณหภูมิต่ำกว่า 15 องศาเซลเซียส การเจริญเติบโตและการออกดอกจะช้าอย่างมาก หากอุณหภูมิสูง กว่า 28 องศาเซลเซียส ควรให้มีความชื้นในอากาศสูงเพื่อชลอการคายน้ำ
          - ความชื้น ความชื้นสัมพัทธ์ ที่เหมาะสมกับการเจริญของกุหลาบ คือ ร้อยละ 70-80
          - แสง กุหลาบจะให้ผลผลิตสูง และดอกมีคุณภาพดี ถ้าความเข้มของแสงมาก และ ช่วงวันยาว
       @ โรงเรือนพลาสติก
          การผลิตกุหลาบให้ได้คุณภาพดี จำเป็นต้องปลูกภายในโรงเรือน ซึ่งมีส่วนของหลังคาเป็นพลาสติก หรือ กระจก   โรงเรือนในเขตร้อนช่วยป้องกันน้ำฝนไม่ให้สัมผัสกุหลาบโดยตรง ซึ่งจะช่วยให้ลดความช้ำของดอกและใบ ควบคุมการเกิดโรค เพิ่มประสิทธิภาพการให้ปุ๋ย และสารป้องกันกำจัดศัตรูกุหลาบ โรงเรือนในเขตร้อนควรระบายอากาศภายในโรงเรือนได้ดี โดยความสูงจากระดับพื้นดินถึงรางน้ำ ไม่ควรต่ำกว่า 3.5 เมตร หากโครงสร้างแข้งแรงอาจเพิ่มให้สูงได้ถึง 4 เมตร ความยาวไม่เกิน 28 เมตร และควรมีช่องระบายอากาศ เพื่อการระบายอากาศร้อนภายในโรงเรือน
       @ การปลูก
           การปลูกกุหลาบในโรงเรือน ควรไถดินลึก 50 เซนติเมตร เพื่อให้การระบายน้ำดี จากนั้นจึงผสมปุ๋ยรองพื้นและพรวนดินในช่วง 30 เซนติเมตร ซึ่งเป็นระดับที่รากกุหลาบสามารถดูดซับน้ำ และ ธาตุอาหาร ได้มีประสิทธิภาพที่สุด
       1. เตรียมแปลงโดยปรับหน้าดินให้เรียบ มีความลาดเท 2-4 % เพื่อการระบายน้ำ
       2. ไถลึก 50 เซนติเมตร เพื่อช่วยให้การระบายน้ำดี.
       3. ปรับ ph 5.5-6.5 และ EC ต่ำกว่า 1.25 mS/cm ( 1:2 )
       4. ปรับสภาพทางฟิสิกส์ดินให้ดินร่วนโปร่ง โดยใช้ปุ๋ยอินทรีย์ และ แกลบดิบ ในอัตราส่วนดิน : ปุ๋ยอินทรีย์ : แกลบดิน ในอัตราส่วน 3:1:2 ในระดับความลึก 20 เซนติเมตร
          - แกลบดิบ 0.067 คิวบิคเมตร/ตารางเมตร ( 107 คิวบิคเมตร/ไร่ )
          - ปุ๋ยอินทรีย์ ( ปุ๋ยคอก หรือ ปุ๋ยหมัก ) 0.033 คิวบิคเมตร/ตารางเมตร ( 53 คิวบิคเมตร/ไร่ )
       5. เพิ่มธาตุอาหารในดิน ( ฟอสฟอรัส แคลเซียม กำมะถัน )
       6. ผสมให้เข้ากัน ในระดับความลึก 20 เซนติเมตร จากผิวดิน
       7. ยกแปลงกว้าง 90 เซนติเมตร ทางเดิน 60 เซนติเมตร   ในพื้นที่ๆ มีการระบายน้ำดี สามารถปลูกโดยไม่ต้องยกแปลงปลูกได้ แต่หากพื้นที่ระบายน้ำไม่ดี จำเป็นต้องยกแปลงให้สูงขึ้น เพื่อให้มีการระบายน้ำและอากาศได้ดี ซึ่งอาจทำได้โดยยกขอบแปลงโดยใช้อิฐบล๊อก หรือตาข่ายพลาสติกได้
       8. ปลูก 2 แถว   ปลูก 5.5-6 ต้น/ตารางเมตร   ระยะระหว่างต้น 20-25 เซนติเมตร  ระหว่างแถว 40 เซนติเมตร ในพื้นที่โรงเรือน 1 ไร่ จะต้องการต้นพันธุ์ประมาณ 8,000-10,000 ต้น
          การปลูกกุหลาบกลางแจ้ง โดยมากเกษตรกรจะยกแปลงปลูกกว้าง 1 เมตร ทางเดิน 50 เซนติเมตร ระยะปลูก 60 X 60 เซนติเมตร ซึ่งจะต้องใช้ต้นพันธุ์ประมาณ 3,200 ต้น/ไร่
          การปลุกกุหลาบล้างราก เมื่อพร้อมปลูกกุหลาบแบบล้างราก ให้จุ่มส่วนรากในโคลน ( ดินเหนียว ผสมน้ำ และสารเคมี ป้องกันเชื้อรา เช่น บีโนมิล ( เบนเลน ) และกวนให้เข้ากัน เพื่อไม่ให้รากแห้ง ไม่ต้องตัดราก ) จากนั้นจึงปลูกลงแปลงทันที โดยขุดเป็นร่องลึกประมาณ 35 เซนติเมตร และเรียงกุหลาบลงในแปลงโดยต้นตอตั้งตรง และหันตำแหน่งติดตาพันธุ์ดีที่แตกเข้าในแปลง แล้วกลบดินและรดน้ำให้ชุ่ม และรักษาให้ดินชื้นจนกว่าจะงอก
       การให้น้ำและปุ๋ยกุหลาบ
       @ การให้น้ำ
          ให้น้ำระบบน้ำหยด หรือใช้หัวพ่นระหว่างแถวปลูก อัตรา 6-7 ลิตร/ตารางเมตร/วัน หรือ 49 ลิตร/ตารางเมตร/สัปดาห์   อาจให้ทุกวัน  วันเว้นวัน  หรือ 2-3 วันต่อครั้ง แล้วแต่สภาพการอุ้มน้ำของดิน  อย่ารดน้ำให้ดินแฉะตลอดเวลา ควรให้ดินมีโอกาสระบายน้ำ และอากาศเข้าไปแทนที่บ้าง ดังนั้น ใน 1 สัปดาห์ หากปลุกในโรงเรือนจะต้องใช้น้ำประมาณ 78,400 ลิตร หรือ 78.4 คิวบิดเมตรต่อไร่   น้ำที่ใช้ควรมีคุณภาพดี มี ph 5.8-6.5
       @ การให้ปุ๋ยก่อนปลูก
          ปุ๋ยก่อนปลูกคือ ปุ๋ยที่ผสมกับเครื่องปลูกก่อนการปลูกพืช ซึ่งให้ประโยชน์ 2 ประการ คือ
       1. ให้ธาตุอาหารที่พืชต้องการอย่างเพียงพอตั้งแต่เริ่มปลูก
       2. ให้ธาตุอาหารบางชนิดในปริมาณมาก และ เพียงพอสำหรับการปลูกพืชตลอดฤดู ซึ่งทำให้สามารถงดหรือลดการให้ปุ๋ยนั้นๆ ได้
       ระหว่างการปลูกพืช  การให้ธาตุอาหารทุกชนิดแก่พืชในขณะปลูก ทำได้ลำบากเนื่องจากมีถึง 14 ธาตุ ธาตุบางชนิดจะมีอยู่ในดินอยู่แล้ว บางชนิดต้องให้เพิ่มเติม หากเป็นไปได้ควรส่งดินไปตรวจเพื่อรับคำแนะนำว่า ควรปรับปรุงดินได้อย่างไร เช่นที่กองเกษตรเคมี กรมวิชาการเกษตร กรุงเทพฯ หรือหน่วยบริการของมหาวิทยาลัยต่างๆ ในการเตรียมดิน นอกจากจะเพิ่มอินทรีย์วัตถุเพื่อให้ดินร่วนโปร่งแล้ว ยังสามารถเพิ่มธาตุอาหารบางชนิดก่อนปลูกพืชได้เลย โดยไม่ต้องให้อีก หลังปลูกระยะหนึ่ง ธาตุอาหารเหล่านี้คือ
       # แคลเซียม ( Ca ) และ แมกนีเซียม ( Mg ) ตามปกติจะต้องมีการปรับ ph ของดินก่อนปลูกพืช ตามที่ได้กล่าวมาแล้ว หากใช้หินปูนบด ก็จะให้แต่ธาตุแคลเซียม หากใช้ปูนโดโลไม้ท์ ก็จะได้ทั้งแคลเซียม และ แมกนีเซียม จึงควรเลือกใช้ปูนโดโลไม้ท์ ในการปรับดิน หากดินมีสภาพเป็นกลาง ควรใช้ยิบซั่น ( CaSo4 ) อัตรา 60 กิโลกรัม/100 ตารางเมตร และ แมกนีเซียมซัลเฟต ( MgSo4 ) อัตรา 6 กิโลกรัม/100 ตารางเมตร แทน ทั้งนี้จะให้ธาตุแคลเซียมแก่พืชได้ประมาณ 1 ปี
       # ฟอสเฟต ( P ) และกำมะถัน ( S ) ปกติจะให้ปุ๋ยซุปเปอร์ฟอสเฟต ( 0-20-0 ) ทั้งนี้จะให้ธาตุฟอสเฟตแก่พืชประมาณ 1 ปี เช่นกัน และปุ๋ยซุปเปอร์ฟอสเฟตอัตรา 36 กิโลกรัม/100 ตารางเมตร ซึ่งโดยส่วนประกอบแล้วจะประกอบด้วยยิบซั่มครึ่งหนึ่ง ดังนั้นจึงให้ธาตุ กำมะถัน และแคลเซียมอีกด้วย หากไม่มีซุปเปอร์ฟอสเฟตอาจใช้ทริบเปิ้ลซุปเปอร์ฟอสเฟต ( 0-46-0 ) อัตรา 18 กิโลกรัม/100 ตารางเมตร แทนได้   แต่ ทริบเปิ้ลซุปเปอร์ฟอสเฟตไม่มีกำมะถัน จึงควรผสมยิบซั่มร่วมด้วยอีกหนึ่งส่วนด้วย
       # ธาตุ อาหารเสริม โดยมากในดินจะมีธาตุอาหารเสริมอยู่บ้าง หากเป็นดินที่ปลูกพืชมาเป็นเวลานาน อาจขาดธาตุอาหารเสริมผสมลงในดินก่อนปลูกหรือให้หลังปลูกพืชก็ได้
       @ การให้ปุ๋ยระหว่างปลูก
       ปริมาณและสัดส่วนของธาตุอาหาร
       การให้ปุ๋ยระหว่างปลูกพืช เนื่องจากธาตุอาหารส่วนใหญ่จะมีอยู่ในดินแล้ว เมื่อปลูกพืชจึงยังคงเหลือธาตุ ไนโตรเจน และ โปแตสเซียม ซึ่งจะถูกชะล้างได้ง่าย ดังนั้นจึงต้องให้ปุ๋ย ทั้งสองในระหว่างที่พืชเจริญเติบโต ซึ่งการให้ปุ๋ยอาจทำได้โดยการให้พร้อมกับการให้น้ำ ( fertigation )
       การให้ปุ๋ยพร้อมกับน้ำ สำหรับกุหลาบ หากให้ทุกวันจะให้ในอัตราความเข้มข้นของไนโตเจน 160 มิลลิกรัม/ลิตร ( ppm ) และหากให้ปุ๋ยทุกสัปดาห์ควรให้ในอัตราความเข้มข้นของไนโตเจน 480 มิลลิกรัม/ลิตร
       หากจะผสมแม่ปุ๋ยเพื่อให้ปุ๋ยพร้อมน้ำแล้ว ควรกำหนดสัดส่วนของไนโตเจน ฟอสฟอรัส และโปแตสเซียม ตามความต้องการ ธาตุอาหารของกุหลาบในระยะต่างๆ ดังนี้
       # ระยะสร้างทรงพุ่ม       1 : 0.58 : 0.83
       # ระยะให้ดอก              1 : 0.5 : 0.78
       # ระยะตัดแต่งกิ่ง          1 : 0.8 : 0.9
       หากต้องการให้ปุ๋ยเม็ดหว่านรอบโคนต้น ควรให้ปุ๋ยที่มีธาตุไนโตเจน 0.5 กรัม/ต้น/สัปดาห์ หรือ อาจใส่ปุ๋ยสูตร 15 - 15 -15 ในอัตรา 3 กรัม/ต้น/สัปดาห์
       การตัดแต่งกิ่งกุหลาบ
       @ การดูแลกุหลาบระยะแรกหลังปลูก
          เมื่อตากุหลาบเริ่มแตก ควรส่งเสริมให้มีการเจริญทางใบ เพื่อการสะสมอาหาร และสร้างกิ่งกระโดง เพื่อให้ได้ดอกที่มีขนาดใหญ่ และก้านยาว ซึ่งทำได้ด้วยการเด็ดยอด เป็นระยะเวลาประมาณ 2-3 เดือน โดยเด็ดส่วนเหนือใบสมบูรณ์ ( 5 ใบย่อย ) ใบที่สองจากยอด เมื่อดอกมีขนาดเท่าเมล็ดถั่วลันตา จากนั้นกิ่งกระโดงจะเริ่มแทงออก ซึ่งกิ่งกระโดงนี้จะเป็นโครงสร้างหลักให้ต้นกุหลาบ ที่ให้ดอกมีคุณภาพดี
       @ การตัดแต่งกิ่ง
          การตัดแต่งกิ่งกุหลาบปฏิบัติได้หลายวิธ เช่น การตัดสูง ตัดต่ำ และการพับกิ่ง แต่ละวิธีจะใช้หลักการที่คล้ายกัน คือ ตัดแต่งเพื่อให้ได้กิ่งที่สมบูรณ์ เพื่อการตัดดอก และเพื่อให้ได้กิ่งกระโดง มากขึ้น และจะรักษาใบไว้กับต้นให้มากที่สุด เพื่อให้ได้กิ่งที่สมบูรณ์ที่สุด ควรรักษาให้พุ่มกุหลาบโปร่ง และไม่สูงมากเกินไปนัก เพื่อสะดวกต่อการดูแลรักษา และแสงที่กระทบโคนต้นกุหลาบ จะช่วยกระตุ้นให้เกิดกิ่งกระโดงอีกด้วย การตัดแต่งกิ่งที่นิยมในปัจจุบันได้แก่ การตัดแต่งกิ่งแบบ ตัดสูงตัดต่ำ ซึ่งปฏิบัติได้ดังนี้
          การตัดแต่งแบบ ตัดสูงตัดต่ำ ( สูงและต่ำ จากจุดกำเนิดของกิ่งสุดท้าย ) เป็นการตัดแต่งเพื่อให้มีการผลิตดอกสม่ำเสมอทั้งปี
          หลักการ ตัดกิ่งสูงจนกิ่งสุดท้ายมีขนาดเล็ก ให้ดอกที่ไม่ได้คุณภาพ ไม่เหมาะกับการตัดดอก จากนั้นจึงตัดต่ำ ดังนั้นในกุหลาบแต่ละต้น จะมีทั้งกิ่งที่ตัดสูงและต่ำ
       1. การตัดสูง
         1.1 กิ่งกระโดง เมื่อกิ่งกระโดงแทงออกมา ปกติจะไม่ตัดดอกแรกเพื่อขาย การตัดกิ่งกระโดง ควรรอให้ดอกเริ่มเห็นสี จากนั้นจึงตัดกิ่งให้เหลือใบสมบูรณ์ ( ใบที่มีใบย่อย 5 ใบขึ้นไป ) ประมาณ 5-6 ใบ หรือ หากกิ่งยาวและแข้งแรงมาก ให้ตัดสูงจากพื้นแปลงประมาณ 40-50 เซนติเมตร เหนือใบที่สมบูรณ์
         1.2 กิ่งรุ่นที่ 2 ที่แตกจากกิ่งกระโดง กิ่งรุ่นนจะเริ่มใช้ตัดดอก เมื่อดอกพร้อมตัดให้ตัดดอกเหลือใบสมบูรณ์ประมาณ 4 ใบ
         1.3 กิ่งรุ่นที่ 3 ถึง กิ่งที่ดอกไมาสามารถตัดเข้าตลาดได้ เมื่อดอกพร้อมตัด ตัดดอกให้เหลือใบสมบูรณ์ 2 ใบ
       2. การตัดต่ำ   เมื่อก้านและดอก มีขนาดเล็ก ขายไม่ได้นั้น สามารถตัดต่ำได้ 2 วิธี
         2.1 เมื่อดอกเริ่มเห็นสี ให้ตัดต่ำกว่าจุดกำเนิดกิ่งสุดท้าย เหนือใบที่สมบูรณ์ ถัดลงมา เพื่อให้ได้ดอกที่ตัดขายได้ จากนั้นจึงตัดต่ำลงเรื่อยๆ จนถึงกิ่งรุ่นที่ 2 ( มีตาสมบูรณ์อีก 2-3 ตา ) เมื่อตัดเหนือตาที่ 3 กิ่งที่ได้ควรจะเป็นกิ่งขนาดใหญ่ จากนั้นตัดดอกแบบสูง ต่อไป
         2.2 เมื่อดอกเริ่มเห็นสี ให้เด็ดดอกทิ้งที่ขั้วดอก สัปดาห์ต่อมาตาที่โคนใบ ส่วนบนจะเริ่มแตกแทงกิ่งขึ้นมา ให้เด็ดออก จากนั้นอีกหนึ่งสัปดาห์ จึงตัดกิ่งต่ำ วิธีนี้จะช่วยกระตุ้นให้มีการสะสมอาหาร และให้ดอกที่สมบูรณ์ และมีขนาดใหญ่ขึ้น
ในเดือนหน้าเรามาดูต่อว่า การป้องกัน กำจัดศัตรูกุหลาบ การเก็บเกี่ยวและการปฏิบัติหลังการเก็บเกี่ยว อย่าลืมแวะเข้ามาดูนะครับ

Pasted from <http://www.ku.ac.th/e-magazine/oct49/agri/rose2.htm>