FacebookPinterest

กุหลาบอังกฤษ ตอนที่ 3

สองตอนที่เขียนไปแล้วได้สรุปไว้ว่า “กุหลาบอังกฤษ” คือกุหลาบที่รวมลักษณะเด่นของกุหลาบสมัยเก่ากับกุหลาบสมัยใหม่เข้าไว้ในดอกเดียวกัน และกล่าวถึงลักษณะดอกและทรงพุ่มของกุหลาบอังกฤษ รวมทั้งให้บัญชีรายชื่อกุหลาบอังกฤษของนายเดวิด ออสติน พร้อมขนาดพุ่ม (ความกว้างและความสูง) ไว้ด้วย
การปลูกกุหลาบอังกฤษ
ปลูกลงกระถาง
ข้อที่จะต้องพิจารณาว่าจะปลูกลงกระถางหรือลงดิน คือขนาดทรงพุ่มและอุปนิสัยของกุหลาบแต่ละพันธุ์ ขนาดทรงพุ่มที่ได้ให้ไว้ในตอนก่อน เป็นเพียง “แนวทาง” เท่านั้น เพราะเอาจริง ๆ เข้าย่อมผิดไปจากนั้นได้ไม่น้อย เช่นกุหลาบเกรแฮม ธอมัส ตามบัญชีบอกว่าสูง ๑๒๐ ซม. กว้าง ๑๒๐ ซม. แต่ของผมที่ปลูกไว้บางต้น บังเอิญไปอยู่ใกล้ต้นไม้ใหญ่ จึงแทงกระโดงสูงขึ้นไปยาวกว่า ๒๕๐ ซม. จะถึง ๓ เมตรเอาด้วยซ้ำ และไม่มีท่าทีที่กิ่งจะอ่อนโน้มลงมา แน่นอนเกรแฮมธอมัส ไม่ใช่กุหลาบที่ควรจะปลูกในกระถาง อย่างไรก็ตาม แนวทางทั่วไปก็ควรจะดูจากบัญชีได้ เพื่อตัดสินใจว่าควรจะปลูกลงกระถางหรือลงดิน หรือถ้าหากจำเป็นต้องปลูกลงกระถาง ควรจะใช้กระถางใหญ่ขนาดไหน
โดยทั่วไป กุหลาบที่ปลูกลงกระถางจะไม่ส่งกิ่งก้านแผ่หรือยืดยาวมากเท่ากับกุหลาบที่ปลูกลงดิน ขนาดของกระถางควรจะต้อง ๑๒ นิ้วขึ้นไป เพราะกุหลาบอังกฤษอย่างไรเสียทรงพุ่มก็จะใหญ่และกว้างกว่ากุหลาบไฮบริดที (ดอกเดี่ยว-ดอกใหญ่) และฟลอริบันดา (กุหลาบพวง) ที่นิยมปลูกกันในปัจจุบัน สำหรับดินเครื่องปลูกก็ใช้เหมือนกับกุหลาบทั่วไป
ปลูกลงดิน

ถ้าต้องการจะปลูกแยกต้นเดี่ยว ๆ ก็อาจปลูกห่างกันประมาณ ๘๐-๑๐๐ ซม. แต่ถ้าจะให้สวย ควรจะปลูกเป็นกลุ่ม ๓ หรือ ๕ ต้น และปลูกค่อนข้างชิด (๔๕ ซม. ตามที่นายเดวิด ออสตินแนะนำ) สำหรับบ้านเราคิดว่าไม่ควรชิดเกินไป น่าจะประมาณ ๖๐ ซม. ที่นิยมปลูกเป็นกลุ่มก็เพื่อให้เจริญเติบโตเป็นพุ่มใหญ่ดูเหมือนด้นเดียวที่ออกดอกเต็มต้น
การตีกรอบหรือรั้วล้อม อาจทำเป็นราวไม้หรือแป๊บล้อมรอบพุ่ม เป็นรูปสี่เหลี่ยมหรือวงกลม ให้ราวสูงจากพื้นดินประมาณ ๔๕-๖๐ ซม. แล้วผูกกิ่งติดกับราวที่ล้อมนั้น ด้วยวิธีนี้จะทำให้กุหลาบออกดอกไปตลอดความยาวกิ่งเหมือนกุหลาบเลื้อย โดยธรรมชาติของกุหลาบเลื้อย ถ้าไม่โน้มกิ่ง แต่ปล่อยให้แทงยอดสูงไปทางตั้ง กุหลาบจะไปออกดอกเฉพาะที่ปลายยอดเท่านั้น ต่อเมื่อโน้มกิ่งลงมา และผูกยึดติดกับราวหรือหลักให้กิ่งทอดไปตามทางนอน จึงจะแตกแขนงดอกสั้นๆ เป็นระยะไปตามความยาวกิ่ง
การตัดแต่งกุหลาบอังกฤษ
กุหลาบอังกฤษจัดอยู่ในประเภทกุหลาบกอ (shrub – ชรับ) ลักษณะทรงพุ่มในภาษาอังกฤษมีคำใช้อยู่ ๒ คำ คือ bush (บุช) กับ shrub (ชรับ) bush นั้นน่าจะแปลว่า “พุ่ม” เป็นคำอธิบายลักษณะทั่วๆ ไปของพุ่มไม้ กุหลาบไฮบริดทีและฟลอริบันดา หรือแม้กุหลาบหนูก็แตกเป็นพุ่ม (bush) ได้ แต่กุหลาบที่จัดเข้าเป็น shrub ชรับ นั้น แตกเป็นกอ และเป็นพุ่มใหญ่ อาจสูงหรือเตี้ยก็ได้ กุหลาบหลายพันธุ์ที่เรารู้จักกันใน

เมืองไทย เช่น แกลร์มาแต็ง ค๊อกเทล เดอะแฟรี่ บัลเลอรินา ต่างก็เป็นกุหลาบ shrub แต่บางทีก็ยังถูกจัดเข้าเป็นกุหลาบเลื้อย กึ่งเลื้อย หรือโพลิแอนธา
เมื่อกุหลาบอังกฤษเป็นกุหลาบกอ จึงตัดแต่งแบบเดียวกับการตัดแต่งกุหลาบกอ ซึ่งไม่มีกฎเกณฑ์แน่นอนตายตัว เพราะกุหลาบกอหรือกุหลาบอังกฤษมีลักษณะการเจริญเติบโตต่าง ๆ กันหลายแบบ ขนาดพุ่มก็มีทั้งเล็ก-ใหญ่ สูง-เตี้ย อย่างไรก็ตาม พอจะกำหนดแนวทางได้ดังนี้
เหตุผลของการตัดแต่งกุหลาบ ที่ตัดกิ่งให้สั้นลง ก็เพื่อให้กุหลาบไม่ต้องเสียพลังไปเลี้ยงกิ่งก้าน และดอกมากเกินไป กิ่งก้านและดอกที่เหลืออยู่จึงได้รับอาหารเต็มที่
สำหรับกุหลาบอังกฤษนั้น ถ้าต้องการให้ต้นเล็ก ไม่ใหญ่โตเกะกะ และมีดอกใหญ่ที่มีคุณภาพ ก็จะตัดกระโดงลง ๑/๒ ของความยาว แต่ถ้าต้องการให้เป็นพุ่มใหญ่ ก็ตัดแต่งเบาลง คือตัดออกประมาณ ๑/๓ ของความยาว ก็จะทำให้พุ่มใหญ่และดอกดก
วิธีตัดแต่งโดยทั่วไป มีดังนี้
๑. ระยะแรกที่ต้นยังไม่ใหญ่มาก จะตัดแต่งเพื่อสร้างโครงสร้างหลัก โดยเอากิ่งเล็ก กิ่งผอมยาวออก เหลือกิ่งที่แข็งแรงไว้ เพื่อให้แตกสาขาเป็นโครงสร้างหลักต่อไป
๒. เมื่อต้นโตเต็มที่แล้ว ก็ต้องดูตามลักษณะการเจริญเติบโตของแต่ละพันธุ์ คือ
พันธุ์ที่มีกิ่งยาวโน้ม ไม่ควรตัดกิ่งออกมาก เพราะจะทำให้เสียความกว้างของพุ่ม แต่ก็ต้องไม่ปล่อยให้สูงเกินไปจนน่าเกลียด
พันธุ์ที่กิ่งสูงตรง ถ้าปลูกอยู่ด้านหลังของแปลง คือมีต้นไม้อื่นอยู่ข้างหน้า ก็ปล่อยให้สูงหน่อยได้ แต่ถ้าอยู่ด้านหน้า ก็ตัดลงมากหน่อย
พันธุ์ที่เป็นพุ่มกิ่งฝอย ควรปล่อยให้เป็นพุ่ม แต่ควรเอากิ่งฝอยที่อ่อนแอออก เพื่อจะได้ไม่มีดอกขนาดเล็กมากไป หรือเป็นยอดบอด
๓. ตัดหนัก จะได้ดอกคุณภาพ ตัดเบาจะได้พุ่มสละสลวย ถ้าในกรณีมีจำนวนกิ่งกระโดงมากเกินไป เอากระโดงแก่ออกเสียบ้าง
๔. การตัดแต่งกุหลาบ เป็นศิลปะพอ ๆ กับเป็นงานฝีมือ กฎเกณฑ์ต่าง ๆ อาจไม่ต้องทำตามก็ได้ ถ้าเห็นว่าไม่เหมาะสม ไม่ต้องกังวลว่าจะตัดแต่งผิด ถือเสียว่าเป็นการทดลองเพื่อหาประสบการณ์ว่าตัดแล้วผลจะเป็นอย่างไร กุหลาบจะไม่ตายเพราะตัดแต่งไม่ถูกวิธี (แต่ก็ควรจะผิดครั้งเดียว !) ข้อสำคัญคือต้องพยายามเรียนรู้ว่าทำไมเราจึงตัดกิ่งนี้ออก และตัดยาวเท่านี้ จากนั้นก็คอยดูว่า ผลเป็นอย่างที่เราคาดหวังหรือเปล่า

โดย พจนา นาควัชระ